“ญาติเฉพาะกิจ มิตรภาพถาวร” @TYRKK Care D+ สื่อสารทำความเข้าใจกับผู้ป่วยและญาติทั้งร่างกายและจิตใจดุจญาติมิตร
แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า นโยบายสร้างขวัญกำลังใจบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เป็น 1 ในนโยบายของ “นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยแนวทางหนึ่ง คือ การสร้าง Care D+ Team ในหน่วยบริการหรือโรงพยาบาลทุกระดับ ที่จะเข้ามาช่วยสร้างวัฒนธรรมใหม่ ใช้หลักใจเข้าใจเรา ทำหน้าที่ประสานใจระหว่าง ผู้ป่วย ญาติ และบุคลากรสาธารณสุข ให้เกิดความเข้าใจ ลดช่องว่างการสื่อสาร เพิ่มความเข้าใจเห็นอกเห็นใจ และที่มากไปกว่านั้น คือ ความใส่ใจ หรือ Care พร้อมที่จะโอบอุ้ม ดูแลกัน D คือ ดีต่อใจ Develop พัฒนาทักษะการสื่อสารในธีมแบบง่ายๆ Care for life Share for Love” เพื่อสร้างความเข้าใจ ส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้ป่วย ญาติ และบุคลากรทางการแพทย์ เป็น “ญาติเฉพาะกิจ มิตรภาพถาวร” ที่ช่วยสื่อสารทำความเข้าใจกับผู้ป่วยที่เจ็บป่วยทั้งร่างกายและจิตใจ และญาติผู้ป่วยที่มีความกลัวและวิตกกังวลกับการที่บุคคลในครอบครัวเจ็บป่วย ให้ได้รับทราบถึงขั้นตอนแนวทางการรักษาพยาบาลผู้ป่วยยาเสพติด ลดความไม่เข้าใจระหว่างกันที่อาจจะเกิดขึ้น
นายแพทย์ชาญชัย ธงพานิช ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่น เปิดเผยว่า โรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่น กรมการแพทย์ ได้นำนโยบายมาสร้างทีม “ญาติเฉพาะกิจ มิตรภาพถาวร” ภายใต้ชื่อ TYRKK Care D+ มีบทบาทในการให้คำปรึกษา ทำความเข้าใจ แก่ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยใน กลุ่มผู้ป่วยเหล่านี้จะมีความกลัวและวิตกกังวลในการที่จะรับการบำบัด รักษายาเสพติดภายในโรงพยาบาลตามระยะเวลาของการรักษา ซึ่งทางโรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่นได้ตระหนัก รับรู้ ถึงปัญหาของผู้ป่วยจึงได้มีทีม TYRKK Care D+ ที่จะคอยให้คำปรึกษาให้ความช่วยเหลือ รับฟังทุกปัญหา ทุกความรู้สึกของผู้ป่วยรายบุคคล และนำข้อมูลที่ได้รับมาร่วมประชุมเพื่อหาแนวทางการตอบสนองต่อปัญหานั้น เช่น ปรับปรุงหอผู้ป่วยโดยการติดตั้งระบบเครื่องปรับอากาศ เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดพฤติกรรมความรุนแรง การสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพ รวมถึงจัดกิจกรรมที่ผู้ป่วยให้ความสนใจ อาทิเช่น การออกกำลังกายตามสภาพร่างกายของผู้ป่วย ภายใต้การดูแลของนักวิทยาศาสตร์การกีฬา การฝึกทักษะการทำอาหารและเบเกอรี่ โดยงานโภชนาการ และการฝึกอาชีพด้านการตัดเย็บ ด้านเกษตกรรม โดยงานอาชีวบำบัด เพื่อให้ผู้ป่วยมีสภาพร่างกายที่ดีขึ้น มีการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม สร้างความมั่นใจให้กับผู้ป่วยให้พร้อมกลับสู่อ้อมกอดของครอบครัว และสังคมต่อไป